ใช้หัวใจมอง Bangladesh
- wanida chiang
- Apr 25, 2017
- 2 min read
ขณะหนึ่งที่รถกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าในความมืด ฉันลืมตาตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงเพลงคลอในอากาศว่า Bhalobasha... ใครซักคนแปลให้ฉันฟัง "ร่างกายเป็นเพียงกรงขังใจ ไม่มีไม่เป็นไร แต่หากสูญเสียจิตใจไปย่อมไร้ค่า" แม้เรื่องราวนี้จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่มีอยู่อย่างนึงที่ฉันยังเชื่อ นั่นคือ ถ้าเราใช้ใจมอง ทุกอย่างจะชัดเจน ไปเที่ยวบังคลาเทศกันค่ะ

แด่ คนขับรถแห่งบังคลาเทศ
มีบางห้วงคำนึงที่ฉันลืมตาตื่นขึ้นมาในระหว่างทางอันยาวนาน บนถนนที่ไม่รู้จักกับทิวทัศน์ที่ไม่คุ้นตา ผู้คนไม่เหมือนที่บ้าน และฉันก็รู้จักประเทศนี้น้อยมาก Bhalobasha…เพลงภาษาบังกลาที่คลออยู่ในรถ ไพเราะจนไม่อยากให้จบลง ฉันมองข้ามไหล่ของคนขับไปข้างหน้า ฟ้าเริ่มมืดแล้ว เห็นเขายกมือนวดคอคลายความเมื่อยล้า ไม่รู้เพราะอะไร ฉันคอยเอาใจช่วยให้เขาพาเราไปถึงที่หมาย ...ด้วยความรู้สึกลึกซึ้งอย่างประหลาด
At first sight

บังคลาเทศทำความรู้จักกับฉันในวินาทีแรกที่สนามบินแห่งชาติด้วยคำเดียวสั้นๆ “คน” ไม่รู้ว่ามาชุมนุมต้อนรับศิลปินเกาหลีแบบที่สุวรรณภูมิรึเปล่า แค่ด้านหน้าสนามบินก็มีผู้คนมายืนอออยู่นับร้อย เมื่อออกสู่การจราจรข้างนอก ฉันก็เริ่มเข้าใจว่า คนเยอะย่อมตามมาด้วยรถแยะ แม้ว่าประเทศไทยอาจมีวัตถุที่เจริญกว่าบังคลาเทศ แต่สิ่งที่ยังทัดเทียมสู้หน้ากันได้ก็คงเรื่องรถติดนี่ล่ะมั้ง ก็ดีเหมือนกัน เพราะรถติดก็เลยมีเวลามองดูบ้านเมืองแปลกตานี้ได้ละเอียดหน่อย สิ่งแรกคือ Baby Taxi สีเขียว หรือบ้านเราเรียกว่าตุ๊กตุ๊กนั่นแหละ หน้าตาคล้ายๆ กันแต่มีกรงรอบคัน ไม่รู้มีทำไม คาดว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและคนขับ น่าลองนั่งดูซักครั้งนะเนี่ย

แต่ยังก่อน ถ้าคิดว่า Baby Taxi น่านั่งแล้ว พอรถผ่านเข้าใจกลางเมือง ฉันก็แทบกรี๊ดกับพาหนะหน้าตาคลาสสิคที่วิ่งกันขวักไขว่ราวกับมอเตอร์ไซค์วินบ้านเรา Rickshaw หรือสามล้อถีบของบ้านเขา ตกแต่งสวยงาม สีสันฉูดฉาด สังเกตว่ามักจะมีลายพิมพ์ใบหน้าคมเข้มของดาราหนังแขกอยู่ที่เบาะ คงประมาณสิบล้อบ้านเราต้องมีตี๋ใหญ่ที่บังโคลน เดี๋ยวก่อนเถอะ ฉันจะต้องหาเวลามานั่งริกชอว์ชมเมืองนี้ให้ได้
จากที่พักหรู Hotel Ruposhi Bangla กลางเมืองธากาที่แสนวุ่นวาย ฉันลองออกไปเดินเที่ยวเล่นด้วยอารมณ์กล้าๆ กลัวๆ เพราะโดนกรอกหูมาว่าไปเมืองแขกให้ระวังตัว แม้จะแอบค้านในใจว่าอยู่ที่ไหนในโลกก็ต้องมีสติระวังตัวด้วยกันทั้งนั้น ความรู้สึกเมื่อออกไปเจอผู้คนที่นี่แสนจะแปลกใหม่สำหรับฉัน ในทางกลับกันก็คงจะแปลกใหม่สำหรับคนที่นี่ด้วย นี่มันปี 2012 แล้ว แต่ผู้คนก็ยัง “ซื่อใส”ต่อกล้องมากๆ พวกเขาไม่เดินหนี ไม่โวยวาย แต่จะเข้ามามุงจนเพื่อนสื่อฯ ด้วยกันกระซิบว่าพวกเรากลายเป็นเซเลบไปแล้ว เพราะไม่มามุงเปล่าๆ ยังยกมือถือมีกล้องขึ้นมาถ่ายรูปกันพรึ่บ ใครบอกว่าบังคลาเทศยังไม่เจริญรีบไปอัพเดทข้อมูลซะใหม่เลย

บนถนนเมืองธากาคือสถานที่ถ่ายภาพผู้คนที่สนุก สวดยอดเลยลูกเพี่ย! ไหนจะชาวบ้านที่กำลังแออัดขึ้นรถบัสกลับบ้าน คนเดินถนน คนนั่งร้านน้ำชา คนถีบสามล้อ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดดอกไม้ พวกเขาสะกิดชวนมองดูเราเหมือนของแปลก แต่อย่ากระนั้นเลย เมื่อกล้องพร้อมพวกเขาก็พร้อมแอ็คชั่นท่าเท่ๆ บวกรอยยิ้มใส่กล้องเสมอ ส่วนบรรดาร้านค้าพวก Street Food มีอาหารที่ฉันไม่เคยเห็นเลยซักอย่าง ถ้าอยากรู้ว่าคืออะไรแนะนำให้ถามว่า “Rooti?” ได้คำตอบแน่นอน แถมช่วยตีซี้อย่างง่ายดายด้วย ฉันลองน้ำชาร้อนจากร้านริมทางไปแก้วนึง หวานอร่อยดี ที่นี่มีร้านน้ำชาเล็กๆ อยู่ริมถนนทั่วไป ขายพร้อมขนมขบเคี้ยว คุกกี้ ขนมปังกรอบ น่าจะเรียกว่านี่คือวัฒนธรรมแบบอังกฤษที่ยังหลงเหลือในวิถีคนที่นี่ นั่งจิบชาไม่นานก็มีหนุ่มบังคลาเทศใจกล้าเข้ามาถามว่าเรามาจากที่ไหน พอบอกว่าประเทศไทยเท่านั้นแหละ เขาก็ยิ้มแย้มบอกว่ารู้จักๆ “I like Thailand!!” แหม ปลื้มใจจัง

Glad to know you
การจราจรของเมืองธากาในยามเช้า ช่างแสนอุตลุดชุลมุนดีแท้ คนก็จะข้าม สามล้อก็จะไป แท็กซี่ก็จะสวน รถบัสก็จะแซง ถ้าไม่พอใจก็มีทุบข้างรถดังปึงปัง ฉันเปรยเล่นๆ ท่ามกลางเสียงแตรรถที่ดังรอบทิศว่า น่าจำลองสถานการณ์จราจรที่นี่ไปใช้สอบใบขับขี่ ใครผ่านนี่ต้องฝีมือขับรถระดับเทพแน่ๆ คำพูดของฉันคงลอยไปถึงหูคนขับรถที่เรานั่ง เพราะมีเสียงหัวเราะหึหึตามมา ...ลืมบอกไปว่าทริปนี้ยังมีสื่อมวลชนจากอินเดีย เนปาล ญี่ปุ่น จอร์แดน และอิตาลีมาแจมด้วย พวกเราก็เลยได้ทำความรู้จักกันด้วยภาษาอังกฤษหลากหลายสำเนียง

นับเป็นโอกาสดีที่ได้มาทริปซึ่งเชิญโดยรัฐบาลบังคลาเทศโดยตรง เราจึงเหมือนแขกของทางการที่ได้รับเกียรติให้เข้าพบ Dr.Dipu Moni รัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของประเทศ ซึ่งให้ความเชื่อมั่นว่าทางรัฐบาลของบังคลาเทศกำลังพยายามพัฒนาประเทศทั้งในด้านสาธารณูปโภค โรงแรมที่พัก รวมทั้งบุคลากร ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งฉันมองว่าแม้บังคลาเทศจะยังเริ่มต้นมาได้ไม่ไกล แต่ด้วยถนนหนทางและตึกรามที่กำลังก่อสร้างอยู่มากมายตอนนี้ ฉันเชื่อว่าอีกไม่นาน ถ้าได้รับการพัฒนาด้านท่องเที่ยวดีๆ บังคลาเทศก็จะกลายเป็นประเทศที่มีสินค้าท่องเที่ยวที่น่าสนใจประเทศหนึ่งทั้งในด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติ

หลังจากเข้านอกออกในกระทรวงต่างๆ แถมยังพาไปชมนิคมอุตสาหกรรม BEPZA ที่ทันสมัย ซึ่งบังคลาเทศโดดเด่นในเรื่องผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องเซรามิค ฉันก็ชักอยากรู้จักตัวตนของบังคลาเทศให้ลึกซึ้งขึ้น เริ่มจากประวัติศาสตร์การสร้างชาติที่ Liberation War Museum ซึ่งจัดแสดงภาพเหตุการณ์ช่วงที่มีการต่อสู้แยกตัวจากปากีสถานตะวันตกในปี 2514 และ National Martyrs' Memorial อนุสรณ์ยอดแหลม ตั้งอยู่ชานเมืองธากา ที่สร้างเพื่อรำลึกถึงวีรชนที่พลีชีพในเหตุการณ์เดียวกัน เล่าอย่างคร่าวๆ คือเมื่อปลดแอกจากอังกฤษแล้ว ประเทศก็ยังต้องกลายเป็นปากีสถานตะวันออก ทั้งๆ ที่ห่างกับปากีสถานตะวันตกเป็นพันไมล์ แต่ด้วยเชื้อชาติและภาษาที่ใช้แตกต่างกันอย่างชัดเจน ประกอบกับถูกกดขี่ทางการปกครองและเศรษฐกิจ ปากีสถานตะวันออกจึงประกาศแยกตัวเป็นอิสระในวันที่ 26 มีนาคม 2514 โดยมี Sheikh Mujibur Rahman เป็นประธานาธิบดีคนแรก ฉันจึงได้ถึงบางอ้อซะทีว่าภาพของชายสวมแว่นตา ผมสีดอกเลา ที่ติดอยู่ตามสถานที่ราชการทั่วไป ก็คือท่านผู้นำคนแรกหรือ Father of the Nation ของบังคลาเทศนั่นเอง


เราไปปิดท้ายวันด้วยการช็อปปิ้งที่หนึ่งในห้างดังของธากานั่นคือห้าง Aarong ซึ่งมีสินค้าพื้นเมืองขายมากมาย โดยเฉพาะงานปักผ้าลายโบราณที่ขึ้นชื่อซึ่งมีทั้งใส่กรอบรูป เย็บเป็นกระเป๋า ปลอกหมอน ผ้าห่ม ฯลฯ งานฝีมือประณีตและราคาไม่แพง ถ้าจะให้คิดสูตรค่าเงินง่ายๆ ก็เอาราคาหน่วย “ทากา” หารสองก็จะเป็นราคาบาทไทยโดยประมาณ ฉันซื้อผ้าคลุมผมสีฟ้าลายปักมาชิ้นหนึ่ง ชอบมากถึงขนาดหยิบมาพันตามแบบคนแถวนั้นจนดูคล้ายสาวบังคลาเทศอยู่เหมือนกัน บังเอิญว่าช็อปเสร็จไวกว่าคนอื่นเลยกะจะมานั่งรอที่รถ นายคนขับก็รีบออกปากห้ามบอกว่าฉันคงขึ้นรถผิดคัน แต่พอมองหน้ากันตรงๆ เขาก็จำฉันได้ ส่วนฉันเจอสายตาคู่นั้นเข้าไปเล่นเอากลับที่นั่งเกือบไม่ถูกเลย
The distant road to Khulna


บนถนนที่ก็ไม่รู้ว่าชื่ออะไร เมืองข้างหน้าอยู่ทางทิศไหนก็ไม่อาจคาดเดา ฉันได้แต่ปล่อยใจไปกับทิวทัศน์ข้างทางที่ไม่เคยเห็น สะดุดตามากก็คือบรรดารถบรรทุกที่มีลวดลายเพ้นท์สีสันฉูดฉาด บ้างก็วาดเป็นนก ปลา เสือ ดอกไม้ บางทีเราก็ผ่านทุ่งข้าวโพดกว้างราวกับทะเล ชาวนาที่กำลังปักกล้าไม่ต่างจากชาวนาไทย สะพานข้ามแม่น้ำที่ยาวแสนยาว ชุมชนมุสลิมริมทางที่เงียบสงบ แต่ก็ยังตื่นเต้นกับคนแปลกหน้าอย่างพวกเราจนต้องควักโทรศัพท์มาถ่ายรูป นักข่าวจากญี่ปุ่นบอกฉันว่าเขาประจำอยู่ที่อินเดีย แต่ถ้าเทียบความสบายใจแล้วเขารู้สึกอย่างนั้นกับคนบังคลาเทศมากกว่า ระหว่างทางเราแวะที่เมือง Kushtia เพื่อชม Kuthibari บ้านหลังงามของกวีรางวัลโนเบลนาม รพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งฉันปลาบปลื้มผลงานของเขามาตั้งแต่สมัยเรียนคีตาญชลี รวมทั้งหลุมศพกวี Fakir Lalon Shah เพราะเป็นเมืองศิลปินหรือเปล่า ฉันสังเกตเห็นเครื่องดนตรีหน้าตาคล้ายซอสายเดียวแขวนขายเป็นของฝาก บาบูเรียกว่า Ektara ว่าแล้วเขาก็หยิบไปดีดเป็นทำนองเพลงแขกซะไพเราะเสนาะหู

ท่ามกลางความมืดบนถนน ฉันลืมตาขึ้นมามองข้างทางแต่ไม่เห็นอะไร เสียงเพลงภาษาบังกลายังคงคลอเบาๆ จนฉันจำคำว่าBhalobasha ได้ขึ้นใจ พอมาฟังเพลงแขกวนไปวนมาฉันก็เริ่มชอบขึ้นมาซะแล้วสิ เห็นบาบูเอามือนวดคอให้หายเมื่อย ขับรถคนเดียวมาเกิน 10 ชั่วโมงกับถนนขรุขระและต้องหลบหลีกรถบรรทุกแบบนี้ สมแล้วที่เขาเป็นคนขับรถแห่งบังคลาเทศ เราถึงเมือง Khulnar ราวๆ เที่ยงคืน ฉันเข้าไปขอบคุณบาบูที่พามาจนถึงที่หมาย แต่เขาเอามือมากุมไหล่ฉันแล้วบอกแค่ว่า “It’s my pleasure.

เราล่องชมป่าชายเลน Sundarbans ด้วยเรือครูซลำใหญ่ สะดวกสบาย สามารถนั่งชมทิวทัศน์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้แบบชิวๆ ก่อนจะมาไกด์บอกว่าอาจมองเห็นจระเข้ว่ายน้ำไปกับเรือ แต่เพ่งเท่าไหร่ก็ไม่ยักเจอ ถึงอย่างนั้นจากการสำรวจ ที่นี่คือบ้านของสัตว์ป่าทั้งสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งนกเกือบทุกสายพันธุ์ของประเทศนี้ ส่วนพืชนั้นจาก 35 สายพันธุ์ไม้ชายเลนทั้งโลก พบที่นี่ที่เดียวก็ปาเข้าไปถึง 14 สายพันธุ์ ไม่นานเรือก็มาเทียบท่าเพื่อพาขึ้นไปเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติเทรลสั้นๆ มีคนนำทางถือปืนไรเฟิลมาด้วย เขาบอกว่าที่ Sundarbans คือถิ่นที่อยู่แห่งใหญ่ของเสือเบงกอลหรือ Royal Bengal Tigerสัตว์สัญลักษณ์ประจำประเทศ ปกติแล้วเสือไม่ค่อยโผล่มาแต่บังเอิญเมื่อวานมาป้วนเปี้ยนในนี้จึงต้องพกปืนไปด้วยเพื่อความปลอดภัย ถึงคราวนี้จะไม่ได้เห็นสัตว์ในธรรมชาติ แต่ที่ Mini Zoo ก็ยังมีทั้งกวางลายจุดและจระเข้ให้ชมเพลินๆ


ตลอดเวลาที่ล่องเรือฉันสังเกตเห็นวิถีชาวบ้านปากอ่าวที่ยังพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก เรือหลายลำบรรทุกใบจากที่ตัดจากป่าไปเต็มลำเรือ หมู่บ้านชายเลนก็ทำประมงยังชีพกันเต็มลำน้ำ ความเรียบง่ายของชีวิตที่นี่ชวนให้ฉันคิดว่าความมั่งคั่งของชาติอาจวัดด้วยปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจก็จริง แต่ความรวยจนของชาวบ้านอาจวัดจากเพียงแค่ความพอมีพอกิน
Nothing, without heart

ค่ำคืนก่อนทางฝ่ายเมือง Khulna ได้จัดการแสดงวัฒนธรรมให้ชมมีทั้งเต้นและร้องรำ เรียกว่าส่งท้ายก่อนกลับอย่างน่าประทับใจ แม้ว่าวันนี้เราจะต้องเดินทางกลับบนถนนยาวไกลอีกรอบ แต่คราวนี้กลับต่างออกไปเมื่อบาบูบ่ายหน้าเส้นทางมากลับด้วยเรือเฟอร์รี่ ข้ามแม่น้ำ Padma หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของประเทศ ซึ่งใช้เวลาข้ามประมาณสองชั่วโมง ฉันลงจากรถมาดูอิริยาบถของผู้คนกับแม่น้ำที่กว้างจนมองไม่เห็นอีกฝั่ง บาบูมายืนข้างๆ เมื่อไหร่ไม่ทันสังเกต เขาจุดบุหรี่สูบเงียบๆ แล้วถามขึ้นว่าฉันชอบบังคลาเทศมั้ย“ชอบกว่าที่คิดไว้เยอะ” เขายิ้ม ฮัมเพลงที่เขาเปิดในรถเบาๆ Bhalobasha ฉันจึงถามถึงความหมายของเพลง เขาบอกว่า “ร่างกายเป็นกรงขังใจ ไม่มีไม่เป็นไร แต่หากสูญเสียจิตใจไป ย่อมไร้ค่า” ความหมายลึกซึ้งจัง ฉันจึงขอให้เขาร้องให้ฟังอีกซักรอบ


กลับสู่ความจอแจที่ธากา พวกเรายังมีเวลาช่วงหัวค่ำไปแวะที่วัดพุทธเพียงแห่งเดียวของเมืองนี้ คือวัด Dharmarajika Buddha Mahavihar ซึ่งในหลวงเคยเสด็จฯ มาเยือนหลายสิบปีก่อน วัดนี้มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ไทย-บังคลาเทศมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่กลางวัดนี้ จัดสร้างโดยทุนจากประเทศไทย ยังคงมีศิลาฤกษ์ภาษาไทยเป็นหลักฐานอยู่เลย ฉันกับเพื่อนๆ สื่อไทยจึงได้โอกาสสักการะเป็นสิริมงคลก่อนกลับประเทศ แถมท่านเจ้าอาวาสก็ยังต้อนรับด้วยไมตรีที่อบอุ่นยิ่งเมื่อรู้ว่าเราเป็นคนไทย


มื้อเย็นวันนี้ฉันรู้สึกว่าข้าวกับแกงอร่อยกว่าทุกครั้งแม้จะเป็นเมนูเดิมก็ตาม เพราะนักข่าวส่วนใหญ่ที่ร่วมทางกันมามีวัฒนธรรมคล้ายกัน พวกเขาเลิกใช้ช้อนแล้วเปิบข้าวด้วยมืออย่างสบายใจ จนฉันเองก็ใช้มือไปกับเขาด้วย
ก่อนจาก เราจับมืออำลากันตามมารยาท แต่สำหรับมือที่จับพวงมาลัยมาเกินกว่าสิบชั่วโมงของบาบูนั้นอบอุ่นถึงหัวใจอย่างประหลาด ฉันถามเขาถึงความหมายของคำว่า Bhalobasha เขาตอบว่า “It means love.” ฉันทบทวนภาษาบังกลาคำนั้นขึ้นมาลอยๆ
…ความเงียบเกิดขึ้นชั่วขณะ แล้วเราก็หัวเราะให้กันจนลืมที่จะปล่อยมือ
ปล. นึกออกแล้ว สุดท้ายฉันก็ยังไม่มีเวลาได้นั่งริกชอว์อยู่ดี แต่บาบูบอกว่าไม่เป็นไร มาอีกคราวหน้าจะปั่นให้นั่งเองเลย ฝีมือขับรถระดับเทพ รับรองปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์

Where Dhaka และ Khulna ประเทศบังคลาเทศ
How to get there จากไทยสู่บังคลาเทศมีหลายสายการบินให้บริการ แนะนำ การบินไทย สำรองที่นั่ง www.thaiairways.com บางกอกแอร์เวยส์ สำรองที่นั่ง www.bangkokair.com
How to visit เนื่องจากบังคลาเทศมีฤดูมรสุม ช่วงที่เหมาะท่องเที่ยวคือฤดูหนาวและฤดูร้อน ระหว่างพฤศจิกายน-มิถุนายน หากสนใจล่องเรือชมป่า Sundarbans หรือสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ก็มีบริษัททัวร์ไทยที่เข้าไปเปิดตลาดอยู่แล้ว หรือสอบถามที่สถานทูตบังคลาเทศ ประจำประเทศไทย โทร.0-2390-5107-8
End Credit แถมรูป







Comments